อำเภอแก้งสนามนาง เป็นอำเภอลำดับที่ 23 ของจังหวัดนครราชสีมา เดิมนั้นมีฐานะเป็นตำบลอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอบัวใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2539 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2529 โดยแบ่งพื้นที่ออกจากอำเภอบัวใหญ่ 4 ตำบล คือ ตำบลแก้งสนามนาง ตำบลโนนสำราญ ตำบลสีสุก และตำบลบึงพะไล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งเขตท้องที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอแก้งสนามนาง โดยประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 9 ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2529 โดยมีผลตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2529
ต่อมา ได้ตั้งตำบลบึงสำโรงขึ้นโดยแยกจากตำบลบึงพะไล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 171 ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2531 โดยมีผลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2531
คำว่า แก้ง เป็นภาษาท้องถิ่น ที่ใช้กันของชาวอีสาน หมายถึง แก่งหินกลางลำน้ำ ชุมชนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น อำเภอแก้งสนามนางในทุกวันนี้ มีความสำคัญในฐานะที่ในอดีตนั้น อาณาบริเวณนี้ ใช้เป็นท่าสำหรับข้ามแม่น้ำชี ของดินแดนสองฟากฝั่งแม่น้ำชี ชุมชนท่าข้ามแม่น้ำชีดังกล่าวที่สำคัญคือบริเวณบ้านแก้งสนามนาง บ้านแก่งโก และบ้านแก่งขาม เป็นต้น ซึ่งชื่อของชุมชนเหล่านี้ เรียกชื่อตามแนวของแก่งหินกลางน้ำ ซึ่งในฤดูแล้ง ยามน้ำลด หนุ่ม ๆ สาวๆ จะมาพักผ่อน เล่นน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน เป็นที่มาของชื่อ แก้งสนามนางนั่นเอง แก่งขาม คือแก่งที่มีต้นมะขามขึ้นอยู่ แก่งโก ก็แก่งที่มีต้นตะโก ซึ่งในปัจจุบันนี้ เกาะแก่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาไม่มีให้เห็นแล้ว เนื่องจากลำน้ำชีเกิดการเปลี่ยนทางเดินของน้ำและตื้นเขินเป็นบางช่วง เมื่อครั้งที่กองทัพของเจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ ยกกองทัพหมายจะเข้าตีกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2369 – พ.ศ. 2370 นั้น ก็ได้ใช้ท่าข้ามแห่งนี้ ข้ามแม่น้ำชี เพื่อเดินทัพเข้าตีเมืองนครราชสีมา ดังที่ปรากฏเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาของชาวบ้านในท้องถิ่น
ในสมัยต่อมา ชุมชน ท่าข้ามแม่น้ำชี บริเวณนี้ ก็ดำรงความสำคัญเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปมาหาสู่กัน ติดต่อค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ระหว่างผู้คนในเขตการปกครองของเมืองชัยภูมิ กับผู้คนในเขตชุมชนบัวใหญ่ (ในสมัยนั้น) ของเมืองโคราช ซึ่งในปี พ.ศ. 2470 รัฐบาลได้สร้างทางรถไฟจากกรุงเทพมาถึงกลางภาคอีสานโดยผ่านอำเภอบัวใหญ่ ได้ก่อให้เกิดความสะดวกในการถ่ายเทสินค้า และ ทรัพยากรจากท้องถิ่นเพื่อเข้าสู่เมืองหลวงเป็นอย่างมาก การนำสินค้าอำเภอแก้งสนามนางในปัจจุบัน พฤศจิกายน 2536
จากจังหวัดชัยภูมิและบริเวณใกล้เคียง มายังสถานีรถไฟ ชุมทางบัวใหญ่นั้นก็จะถูกลำเลียงข้ามแม่น้ำชี ที่บริเวณท่าข้ามนี้และรัฐบาล ได้เห็นความสำคัญ ของเส้นทางการคมนาคมนี้ก็ได้ตัดถนนลูกรังที่ทันสมัย (ในสมัยนั้น) จากบัวใหญ่ไปจังหวัดชัยภูมิ โดยตัดผ่านบ้านแก่งขามและได้สร้างสะพานเหล็กข้ามลำน้ำชีขึ้นบริเวณท่าข้ามบ้านแก่งขาม – แก่งโก ทำให้เกิดชุมชนตลาดการค้าขึ้นที่บริเวณบ้านแก่งขาม
ต่อมารัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการปลูกปอให้แก่เกษตรกร ในภาคอีสาน และได้ก่อตั้งบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย จำกัด ขึ้น โดยมีสำนักงานสาขาตั้งขึ้นในปี 2497 ที่บริเวณสถานีตำรวจภูธรแก้งสนามนางในปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมการปลูกปอแก้วและรับซื้อปอจากเกษตรกรในบริเวณนี้ส่งโรงงานทอกระสอบของรัฐ จึงส่งผลทำให้ชุมชนตลาดบ้านแก่งขามขยายใหญ่ขึ้น และเมื่อปี พ.ศ. 2513 มีการสร้างสะพานคอนกรีต ตามแบบสมัยใหม่ แทนสะพานเหล็กเดิม ซึ่งในปัจจุบันถนนสายนี้ คือถนนหมายเลข 202(ถนนนิเวศรัตน์) ซึ่งตัดผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอแก้งสนามนางในปัจจุบันนั่นเอง