เกศัญชลี คือการคารวะอย่างสูดสุดด้วยศีรษะหรือเส้นผม (เกศา + อัญชลี ) ตามตำนานชาดกที่กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งเคยเสวยพระชาติ เป็นพราหมณ์ ชื่อ “สุเมธดาบส” ซึ่งสมัยนั้น ตรงกับสมัยที่มีพระพุทธเจ้าพระองค์แรกอุบัติขึ้นในโลก พระนามว่า ทีปังกร สุเมธชาดก เป็นผู้ที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะได้พบ บูชาพระพุทธเจ้าทีปังกร ครั้นเมื่อทราบว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จผ่านเมืองใกล้ๆ ที่ท่านอาศัยอยู่ จึงรีบเดินทางไกล ไปรอรับ เพื่อหวังจะได้สักการะ
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ดาบสสุเมธ ได้นำเอาดอกไม้ และของหอมมาบูชาพระพุทธองค์ เมื่อดาบสเห็นทางที่จะเดินผ่านของพระพุทธเจ้านั้น ชื้นแฉะด้วยน้ำและโคลนตม ท่านจึงสยายเอามวยผมและร่างกายของตนเอง นอนราบลงกับพื้นเพื่อทำเป็นที่รองเหยียบ ให้พระพุทธเจ้าทีปังกร รองเหยียบ พระพุทธเจ้า จึงได้ทรงตรัสพยากรณ์ในเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า ในอนาคตอันยาวไกล สุเมธดาบส จักได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นพระพุทธเจ้า ศากยมุนี ตามอานิสงค์แห่งการถวาย เส้นผมต่างสะพาน
การพบกันระหว่าง สุเมธชาดก และพระพุทธเจ้าทีปังกร เมื่อครั้งกระโน้นได้ก่อให้เกิด ตำนานเกศัญชลี ขึ้นเป็นครั้งแรก ตามที่ชาวพุทธเราได้รับรู้ และแม้นว่า สุเมธดาบส จะได้น้อมกาย สยายเกล้าให้พระพุทธเจ้า ได้ย่างเหยียบ แต่ก็ต้องใช้เวลา อีกหลายร้อยชาติทีเดียวในการพัฒนาจิต เพื่อให้บรรลุโพธิญาณ กว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในลำดับที่ 28
พิมพาพิลาป เป็นภาพแกะสลัก ใบสีมาที่ได้จากเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์สถานจังหวัดขอนแก่น เป็นศิลปะสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษ ที่ 13 – 14
ในภาพเป็นเหตุการณ์ ตอน พระพุทธเจ้าเสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ หลังจากที่ทรงออกผนวชโดยมิได้ร่ำลา ในภาพพระนางพิมพา หรือนางยโสธรา นั่งคร่ำครวญ ปิ่มว่าจะขาดใจ พร้อมกับสยายเกศา เช็ดฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้าอันเป็นสัญลักษณ์ ของการคารวะสูงสุด ในวัฒนธรรมอินเดีย
ถือว่าภาพแกะสลักชิ้นนี้ ศิลปิน สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ที่ขัดแย้งของพระนางพิมพา ออกมาได้อย่างหมดจด ใจหนึ่งยังคงเจ็บปวด อยากตัดพ้อต่อว่าในฐานะที่เป็นผู้ถูกทอดทิ้ง แต่อีกใจหนึ่งต้องหักก้ามแปรความขมขื่น มาสู่การร่วมอนุโมทนา ในฐานะเทวีหม้ายผู้เสียสละ เมื่อสวามีคนรักมุ่งมั่นสู่มรรคาแห่งธรรม
ครั้งหนึ่งเมื่อครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ซึ่งถูกคณะสงฆ์ส่วนกลางจากสยาม ในขณะนั้น กล่าวหา จนถูกอธิกรณ์ ถูกคณะกรรมการจากมหาเถรสมาคมนำตัวไปสอบสวน ที่กรุงเทพฯ หลายครั้งหลายครา
แต่เมื่อผลการตัดสินคดี ขั้นสุดท้าย โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในสมัยนั้นได้ลงคะแนนให้ครูบาศรีวิชัย ปราศจากความผิดตามที่ได้ถูกกล่าวหา ชาวบ้านชาวดอยที่มีความศรัทธา แห่แหนมาต้อนรับ ครูบาศรีวิชัยขณะที่ลงจากรถไฟที่สถานีลำพูนนั้น ต่างก็น้อมตัวและร่างกายทอดให้ครูบาศรีวิชัย เดินเหยียบย่างเป็นแถวยาวเหยียด กว่า 200 ชีวิต เป็นการกระทำอันบริสุทธิ์ของคนธรรมดา เพื่อถวายเป็นสังฆบูชา นี่ก็นับว่า เป็นตำนานของเกศัญชลีอีกครั้งหนึ่ง