จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โฮจิมินห์ ใน แผ่นดินไทย

ประธานโฮจิมินห์ PRESIDENT HO CHI MINH เกิดวันที่ 19/5/1890 ที่ บ้านฮองตรู จังหวัดเหงะอาน (Nghe An) ทางตอนเหนือของเวียดนาม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2433
โฮจิมินห์กับนายปรีดี พนมยงค์
เมื่อครั้งที่เวียดนามประสบปัญหาการรุกรานจากฝรั่งเศส ชาวเวียดนามมากมายได้ได้อพยพหนีมาพึ่งใบบุญเพื่อนบ้านคือไทย เรา โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับแม่น้ำโขง เช่น สกลนคร หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี 
                เมื่อเดือน มิ.ย. 2471 โฮจิมินห์ ได้รับมอบหมายจากองค์กรคอมมิวนิสต์สากล ให้ปฏิบัติภารกิจในอินโดจีน จึงได้เดินทางจากเยอรมัน เข้าสู่ประเทศไทย เมื่อเดือน กรกฎาคม 2471ใช้ชื่อว่า เหงียน อ๋าย ก๊วก (เหงียนผู้รักชาติ)โดยสถานที่แรกที่เข้ามาเคลื่อนไหว คือ บ้านหัวดง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โดยเริ่มทำการติดต่อประสานงานกับชาวเวียดนามอพยพ ที่ได้มาทำมาหากินอยู่ที่บ้านหัวดงแห่งนี้ ประมาณ 20 ครอบครัว บางคนที่นี่ เคยเป็นทหารของ ฟาน ดิ่งฟุ่ง (ผู้นำกู้ชาติเวียดนามยุคก่อนโฮจิมินห์) ซึ่งน่าเสียดายที่ในปัจจุบันหลักฐานเอกสารต่าง ๆ ได้สูญหายไปหมดแล้ว บุคคลต่าง ๆ ที่เคยได้ร่วมภารกิจกับท่าน ต่างก็ล้มหายตายจากไปหมด บุคคลที่เป็นบุตรหลานของท่านเหล่านั้นก็ได้กลายเป็นคนไทยที่สมบูรณ์ไปหมดแล้ว
บ้านพักของโฮจิมินห์ ที่จังหวัดอุดรธานี
โต๊ะทำงานภายในห้องพัก
               เมื่ออยู่ที่บ้านหัวดงได้ระยะหนึ่ง  เหงียน อ๋าย ก๊วก และคณะ ได้เดินทางสู่แผ่นดินอีสาน เข้าสู่จังหวัดอุดร เพื่อ ชี้นำสาขาจัดตั้งของสมาคมสหายเยาวชนปฏิวัติ ซึ่งท่านได้ใช้ชื่อเพิ่มอีกชื่อหนึ่งว่า ทอ (Thä) จังหวัดอุดรธานีอยู่ในภาคอีสานของสยาม มีชาวเวียดนามอาศัยทำมาหากินเป็นจำนวนมากเป็นจุดที่สะดวกต่อการติดต่อประสานงานกับจังหวัดต่างๆไปถึง ณ ที่ใดงานแรกที่ท่านลงมือทำคือจัดตั้งแนวร่วม และกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นฐานในภารกิจกู้ชาติพร้อมกับติดตามข่าวสาร ให้การศึกษาแก่มวลชนชาวเวียดนาม ผู้คนมักเรียกท่านว่า เฒ่าจิ๋น ท่านอาศัยอยู่กับครอบครัวของเฒ่า แมด-ด๋าย สหายจัดตั้งที่บ้านหนองบัว หนองเหล็ก  ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ชุมชนบริเวณนี้มีชาวเวียดนามอพยพอาศัยอยู่ราว 20-30 ครอบครัว ส่วนมากทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ต่อมา เฒ่าจิ๋น ได้เปลี่ยนสถานที่พักใหม่ ย้ายไปที่หมู่บ้านหนองโอน  ต.เชียงพิณ โดยอาศัยอยู่กับครอบครัวของสหายที่ชื่อ "เฒ่าแงว็ก" ซึ่งได้ถึงแก่กรรมแล้ว 
การมาพักที่บ้านหนองโอนแห่งนี้ เฒ่าจิ๋นมีความมุ่งมั่นที่จะรวบรวมชาวเวียดนามพลัดถิ่นเข้าร่วมขบวนการ ต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศส ทั้งนี้เฒ่าจิ๋นพักอยู่กับเฒ่าแงว็กนานราว 2 เดือนซึ่งในปัจจุบันนี้ ทางจังหวัดอุดรธานี ได้จำลองบ้านของท่านขึ้นมาใหม่ในที่ดินผืนเดิม โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์พัฒนา แหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กลุ่มทุนในเวียดนามและการบริจาคจากชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในอุดร ช่วงเวลาที่อยู่ที่นี่ ท่านปลูกบ้านใกล้ๆบ้าน องแงว็ก ทำสวน ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู อบรมเรื่องชาตินิยมและฝึกอาวุธให้กับผู้ติดตามและชาวเวียดนาม มีครั้งหนึ่งที่ท่านพาคนเวียดนามไปช่วยงานก่อสร้างที่วัดโพธิสมภรณ์และวัดบ้านจิก
                   ในต้นปี 2474 ท่านได้เดินทางไปทำภารกิจต่อที่จังหวัดสกลนครและนครพนม ตามลำดับ โดยได้อาศัยอยู่ที่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งได้ใช้เป็นสถานที่ในการติดต่อ ประสานงานวางแผน และเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยเอกราชของเวียดนาม ในปัจจุบันบ้านหลังนี้อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม และ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองญาติ  ในปี พ.ศ. 2474 ท่านได้เดินทางกลับประเทศเวียดนามเพื่อดำเนินการเรียกร้องเอกราชจนกระทั่ง สามารถนำการปลดปล่อยมาสู่ประเทศเวียดนามได้สำเร็จเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ต่อมาท่านได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.  2489  
จนถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2512 ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษและบิดาของประเทศเวียดนามจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ดังนั้นสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านเคยใช่เป็นที่พักและดำเนินงานล้วนแล้วแต่สำคัญต่อชาวเวียดนามทั้งสิ้น คนไทยเราเองคนทำการศึกษาและอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการท่องเที่ยวและเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมกันของสองประเทศไว้สืบไป


วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ช่องสามหมอ กับลักษณะทางธรณีวิทยา

                  ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทางด้านภูมิศาสตร์ในลักษณะต่าง ๆ นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อลักษณะของการดำรงชีวิตของมนุษย์ในแง่ต่างๆเป็นอย่างมาก ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ของโลกนอกจากจะทำให้เราทราบถึงปรากฏการณ์หรือกระบวนการที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นมาแล้วยังทำให้เราทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อลักษณะการดำรงชีวิตของผู้คนในบริเวณนั้นอีกด้วย
ภาพถ่ายดาวเทียม  ช่องสามหมอ ภูเขาลูกขวามือคือภูผาแดง ส่วนด้านซ้ายคือภูโค้ง
                  ช่องสามหมอ เป็นช่องเขาที่อยู่ระหว่างภูเขาสองลูกคือ ภูผาแดง ทางด้านทิศตะวันออก และ ภูโค้งทางด้านทิศตะวันตก โดยช่องเขานี้ใช้เป็นจุดแบ่งเขตการปกครอง 3 อำเภอด้วยกัน คือ ด้านทิศเหนือ ติด อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ทิศใต้อำเภอคอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ และทิศตะวันออก อ.โคกโพธิ์ชัย จ.ขอนแก่น  ลักษณะทั่วไป เป็นช่องเขาขาดที่มีลำน้ำไหลผ่าน อย่างที่เรียกว่า กิ่วน้ำ (water gap)  ลำน้ำนั้นคือ ห้วยสามหมอ โดยจะไหลตัดกับแนวทิวเขาดังกล่าว เกือบเป็นมุมฉาก
               ในอดีตนั้น พื้นผิวภาคอีสานได้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งการยกตัว จมตัว และการแทรกดันของหินอัคนีในช่วงธรณีกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะตอนปลายมหายุคพาลีโอโซอิก ยุคไทรแอสสิก และปลายยุคเทอร์เชียรี และจากการเคลื่อนตัวชนกันระหว่างธรณีภูมิฉาน ไทย มาเลย์ กับธรณีภูมิจุลทวีปอินโดจีน ทำให้เกิดลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาหลายลักษณะขึ้นในภาคอีสาน โดยส่วนใหญ่จะเป็นรอยคดโค้ง (Fold) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ รอยคดโค้งรูปประทุนคว่ำแก้งคร้อ ( Keangkhlo Anticline) ซึ่งในเวลาต่อมา รอยคดโค้งนี้ได้เกิดกษัยการจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะลำน้ำ เช่น ลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ เป็นต้น กัดเซาะ ลดระดับลงจนกลายเป็นที่ราบสูงระหว่างภูเขาที่เรียกว่าที่ราบสูงแก้งคร้อ ตัวที่ราบสูงนี้จะล้อมรอบด้วยภูเขาซึ่งจะเป็นเชิงเนินเขาด้านข้าง(Limbs) ของแนวคดโค้งเดิมนั่นเอง ได้แก่ ภูเม็ง ภูผาแดง ภูผาดำ ทางด้านทิศตะวันออก ภูโค้ง ภูคงคก ทางด้านใต้ ภูคี ภูหยวก ทางด้านตะวันตก  ส่วนทางเหนือจะลาดเทลงสู่ลุ่มแม่น้ำพรม ระดับความสูงเฉลี่ย 236 เมตร จากระดับน้ำทะเล  สำหรับขั้นตอนการเกิดขึ้นของช่องสามหมอ มีสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่สองส่วนคือโครงสร้างทางธรณีวิทยาและการกระทำของน้ำ
ลักษณะการเกิดของ Antecedent stream
                       ในส่วนของโครงสร้างทางธรณีวิทยาของช่องสามหมอนั้นมีภูเขาที่เกี่ยวข้องโดยตรงอยู่สองลูกคือ ภูโค้ง และภูผาแดง ซึ่งภูเขาทั้งสองลูกนี้เป็นภูเขาหินทราย ชุดโคราช  ซึ่งหน่วยหินที่เห็นเด่นชัดในบริเวณนี้คือ หน่วยหินโคกกรวด และหน่วยหินภูพาน ซึ่งมีคุณสมบัติความทนทานต่อการกัดกร่อนแตกต่างกัน หน่วยหินโคกกรวดที่ทนทานต่อกษัยการต่าง ๆ ได้น้อยกว่าได้ผุพังลงไปก่อน ปรากฏให้เห็นเป็นแนวหินราง ๆ ทอดตัวยาวถัดจากแนวภูผาแดง ภูโค้งมาด้านใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร ขนานกับแนวเทือกเขาทั้งสองลูก ส่วนหน่วยหินภูพาน ที่คงทนต่อการพังทลาย ผุพังสูงกว่า จึงเห็นเป็นแนวทิวเขาภูผาแดง ภูโค้ง   นั่นเอง
                       สิ่งที่เกี่ยวข้องอีกประการหนึ่งคือ การกระทำของลำน้ำ ซึ่งนั้นก็คือ ลำห้วยสามหมอ
ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำชี ซึ่งเป็นลำน้ำที่กัดเซาะสันเขา จนทำให้เกิดช่องสามหมอนี้ขึ้น ลักษณะของลำน้ำสายนี้จะเป็นลำน้ำบรรพกาล ( Antecedent stream) ที่วางตัวอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนแล้ว เมือเกิดการยกตัวของแผ่นดินขี้น  ลำห้วยนี้ก็จะกัดเซาะ ไปพร้อมๆ กับการยกตัว มื่อเวลาผ่านไปหลายล้าน ปี จึงมีรูปร่างลักษณะที่เห็นดังเช่นปัจจุบัน

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การตรวจสอบอายุด้วยคาร์บอน-14 กับแหล่งโบราณคดีทุ่งผีโพน

             การกำหนดอายุหรือการหาอายุทางวิทยาศาสตร์ที่นิยมกันมากในปัจจุบัน คือ  วิธีการ  เรดิโอคาร์บอน หรือ คาร์บอน-14 การหาอายุด้วยวิธีการนี้เหมาะสำหรับการใช้ศึกษาหลักฐานที่เป็นอินทรียวัตถุที่พบอยู่ร่วมกับวัตถุที่คนในอดีตทำขึ้นเท่าที่นิยมใช้กันอยู่ก็มีไม้ กระดูก หรือ ถ่าน เป็นต้น  โดยวัด แสงกัมมันตภาพของคาร์บอนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในอินทรียวัตถุ  ทำให้สามารถทราบอายุของสิ่งเหล่านั้น  เช่นทราบว่ามนุษย์หรือสัตว์ตายมานานเท่าไร  ต้นไม้ถูกนำมาใช้งานตั้งแต่เมื่อไร เป็นต้น
                   คาร์บอน 14   (C 14 )   ค้นพบเมื่อปี  พ.ศ. 2483   โดยพบจากผลของการค้นคว้าวิจัยทางด้านปรมณู Institute of Nuclear Studies  มหาวิทยาลัยชิคาโก ผู้ที่ค้นพบคือ  Dr. Willard F. Libby 
หลักการในการกำหนดอายุโดยการหาปริมาณคาร์บอน 14 คือ เมื่อรังสี (Cosmic Radiation)  ซึ่งเป็นตัวผลิตนิวตรอน ผ่านเข้ามาในบรรยากาศของโลก จึงทำปฏิกิริยากับอะตอมของไนโตรเจน (N-14) ก่อให้เกิดอะตอมของคาร์บอน (C-14) ซึ่งเป็นกัมมันตภาพรังสี  (Radioactive) ดังนี้
                                               N14 + n   =   C14+ H
                  เมื่ออะตอมของคาร์บอน(C-14)   เกินในบรรยากาศรอบ ๆ โลก  ก็จะรวมตัวกับออกซิเจนที่มีอยู่ในบรรยากาศ กลายเป็นคารบอนไดออกไซด์  (CO 2) ปนอยู่ในบรรยากาศรอบโลก   เมื่อเป็นเช่นนี้พืชซึ่งต้องใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการหายใจก็จะรับเอาคาร์บอน-14 เข้าไปด้วย  และซึมเข้าไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของพืช  สัตว์ที่กินพืชก็จะรับเอาปริมาณของคาร์บอน-14  เข้าไป  ส่วนมนุษย์ซึ่งกินทั้งสัตว์และพืชก็จะรับเอาปริมาณของคาร์บอน-14 จากการกินสิ่งเหล่านั้น
                ดังนั้นไม่ว่าพืช สัตว์ และมนุษย์จะมีคาร์บอน-14 สะสมอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งสิ้น และจะเริ่มสะสมไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ เมื่อสิ่งมีชีวิตตายลงก็จะหยุดรับคาร์บอน-14 ปริมาณของคาร์บอน-14 ที่สะสมอยู่จะค่อย ๆ ลดลงในอัตราส่วนที่สม่ำเสมอทุก ๆ 5,568 ปี  
  กล่าวคือคาร์บอน-14 ที่สะสมอยู่ในซากอินทรียวัตถุที่ตายแล้วจะลดลงครึ่งหนึ่ง คือเหลือเพียง 1/2 ส่วนเมื่อเวลาผ่านไป 5,568 ปี และเมื่อเวลาผ่านไปอีก 5,568 ปี คาร์บอน-14 ที่เหลืออยู่ 1/2 ส่วนนี้จะลดลงไปอีกครั้งหนึ่ง (คือ 1/2 ของ 1/2)  จะเหลือเพียง 1/4 ส่วน  เวลาต่อไปอีก 5,568  ปี  คาร์บอน-14 จะลดลงไปอีกครึ่งหนึ่งของที่เหลือ  (คือ 1/2 ของ 1/4)  จะเหลืออีกเพียง  1/8  ส่วนเช่นนี้เป็นต้น ระยะเวลา 5,568 ปีที่คาร์บอน-14 ลดลงครึ่งหนึ่งนี้เรียกว่าครึ่งชีวิต  (Half - Life)
                       จำนวนรังสีที่อินทรีย์วัตถุแผ่ออกมานี้สามารถวัดปริมาตรด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Geiger counter  จำนวนรังสีเบตา  จะปรากฏที่หน้าปัด  และนำไปคำนวณหาอายุของอินทรีย์วัตถุนั้นได้ สำหรับระยะเวลาของครึ่งชีวิต  แต่เดิม  Dr.Libby ได้กำหนดว่าครึ่งชีวิตมีระยะเวลา  5,568 ± 80 ปี  คืออาจจะมากกว่า 5,568 ปีอยู่ 80 ปี หรืออาจจะน้อยกว่า 5,568 ปีอยู่ 80 ปี ก่อนปัจจุบัน พ.ศ.2504 กรมวิทยาศาสตร์  สหรัฐอเมริกา  ได้ประกาศว่า ครึ่งชีวิตของคาร์บอน-14  ควรเป็น 5,760 ปี พ.ศ.2505  มีการประชุม 5 th Radiocarbon Dating Conference  ขึ้นที่  Cambridge  กำหนดให้ครึ่งชีวิตของคาร์บอน-14 มีค่า 5,573 ± 30 ปี สำหรับในปัจจุบันกำหนดระยะเวลาครึ่งชีวิตเท่ากับ 5,730 + 40 ปี 
อย่างไรก็ตาม    การดำเนินการหาอายุโดยการตรวจหาปริมาณคาร์บอน-14 เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังขั้นตอนต่าง    มาก  โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเก็บตัวอย่าง ต้องระวังไม่ให้มีสารอื่นแปลกปลอม เข้าไปซึ่งจะทำให้การตรวจหาอายุผิดพลาดไปมาก เช่น ถ้ามีคาร์บอนใหม่ ๆ  เข้าไปรวมอยู่ในสิ่งซึ่งเป็นตัวอย่างเดิมเพียง  1 เปอร์เซ็นต์จะทำให้ radioactivity   เพิ่มขึ้น  2 เปอร์เซ็นต์  เมื่อนำไปตรวจสอบจะทำให้การคาดคะเนอายุผิดพลาดไป  3 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น  จึงได้มีการปรับปรุงการเก็บตัวอย่างและการทำความสะอาดเสียใหม่ โดยล้างด้วยกรดเข้มข้นหรือด่าง
เนินดินทุ่งผีโพน
                         แหล่งโบราณคดีทุ่งผีโพน  อยู่ริมถนน นิเวศรัตน์ สาย 202 หลักกิโลเมตรที่ 60  ระหว่างอำเภอบัวใหญ่ – อำเภอสีดา มีลักษณะเป็นกลุ่มเนินดิน 3  เนิน เห็นชัดเจนอยู่บนทุ่งราบ ซึ่งมีลักษณะเป็นดินเค็มจัด ตามผิวดินจะมีคราบเกลือจับอยู่ทั่วไป ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ หรือ ได้ผลไม่ค่อยดีนัก จึงถูกทิ้งให้โล่ง
                         ทุ่งผีโพนเป็นแหล่งผลิตเกลือโบราณซึ่งศาสตราจารย์อิจินิต้าแห่งแผนกวิชาโบราณคดีคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยคาโกจิมาประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินการสำรวจขุดค้นในพ.ศ.2534  พบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการผลิตเกลือเป็นจำนวนมาก

ภาชนะ แบบพิมายดำ
เช่น  
    1. เศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์แบบพิมายดำ(ที่ตั้งชื่อว่าภาชนะแบบ "พิมายดำ"ก็เพราะว่าพบภาชนะดินเผาลักษณะแบบนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในพื้นที่ประเทศไทยที่เขต อ.พิมาย จ.นครราชสีมา จากการขุดค้นของโครงการโบราณคดีกู้ภัย(Salvage Archaeology) เมื่อประมาณ 30 ปีเศษที่ผ่านมาภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างประเทศไทยและอเมริกาโดยทีมงานของ Prof. Wilhem G. Solheim จาก Dept. of Anthropology , the University of Hawai)
นอกจากนั้นยังพบหม้อก้นกลมบรรจุเกลือ,ชามก้นกลมประดับลายเชือกทาบที่ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน หรือด้วยมือ ปากกว้างประมาณ ๒๐ - ๓๐ เซนติเมตรสูง๑๕เซนติเมตร
     2.อุปกรณ์การผลิตเกลือโบราณที่ทำจากดินเหนียวประกอบด้วยถังบรรจุน้ำเกลือ ซึ่งก่อสร้างติดกันเป็นจำนวน ๒-๓ ถังถังกรองน้ำ เกลือเตาต้มเกลือหม้อใส่เกลือเตาหุงต้มอาหารและ หลุมเสาไม้สำหรับทำที่พักของผู้ผลิตเกลือ
     3.กระดูกสัตว์ประเภทต่างๆเช่นวัวควายหอยซึ่งอาจใช้เป็นอาหารของผู้ผลิตเกลือ
     4.จำแนกชั้นดินทางโบราณคดีได้เป็น๑๐ชั้นดินด้วยกันโดยชั้นที่ ๑๐ ซึ่งเป็นชั้นดินที่ลึกที่สุดนั้นจะพบร่องรอยการผลิตเกลือส่วนชั้นดินต่างๆถัดมามักจะเป็นชั้นดินถม   ทุ่งผีโพนนี้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำให้เห็นว่าเป็นแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญของมนุษย์สมัยโบราณแห่งหนึ่งของภาค
อีสานเป็นสินค้าส่งออกไปยังถิ่นอื่นที่ห่างไกล
ที่เห็นขาวๆ คือเกลือล้วนๆเลยนะครับ


ศาสตราจารย์อิจินิต้า ได้นำวัตถุตัวอย่างไปตรวจสอบหาอายุ ด้วยวิธีการเรดิโอคาร์บอน นี้ที่ สมาคมเรดิโอโซโทปแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Radioisotope Association) โดยคิดค่าครึ่งชีวิต 5,760 ปี และได้อายุดังนี้ คือ   ตัวอย่างที่ N-6308 ผลที่ได้คืออายุ 1790  ± 190 (ปีมาแล้ว) แสดงให้เห็นว่า แหล่งโบราณคดีทุ่งผีโพนนี้ เป็นชุมชนผลิตเกลือที่มีความเก่าแก่มาก ใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก แหล่งโบราณคดีบ้านหลุมข้าว  และแหล่งโบราณคดีโนนวัด  อ. โนนสูง จ.นครราชสีมา คือ มีอายุในช่วงประมาณ 2,500 - 1,500 ปีมาแล้วซึ่งตรงกับสมัยเหล็ก (Iron Age)ในแถบนี้  
 แต่ในสภาพปัจจุบัน แหล่งโบราณคดีทุ่งผีโพน ไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานใดเลย ถูกทิ้งให้รกร้าง ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยถูกขุดเพื่อนำดินบนเนินดินลูกหนึ่งมาถมเพื่อสร้างถนนสาย 202 โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  
ร่องรอยเนินดินที่ถูกขุด
ซึ่งหากหน่วยงานต่างๅ หรือชุมชนไม่เห็นความสำคัญ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้คงจะถูกทำลายหรือเลือนหายไปตามกาลเวลาอย่างแน่นอน