จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โฮจิมินห์ ใน แผ่นดินไทย

ประธานโฮจิมินห์ PRESIDENT HO CHI MINH เกิดวันที่ 19/5/1890 ที่ บ้านฮองตรู จังหวัดเหงะอาน (Nghe An) ทางตอนเหนือของเวียดนาม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2433
โฮจิมินห์กับนายปรีดี พนมยงค์
เมื่อครั้งที่เวียดนามประสบปัญหาการรุกรานจากฝรั่งเศส ชาวเวียดนามมากมายได้ได้อพยพหนีมาพึ่งใบบุญเพื่อนบ้านคือไทย เรา โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับแม่น้ำโขง เช่น สกลนคร หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี 
                เมื่อเดือน มิ.ย. 2471 โฮจิมินห์ ได้รับมอบหมายจากองค์กรคอมมิวนิสต์สากล ให้ปฏิบัติภารกิจในอินโดจีน จึงได้เดินทางจากเยอรมัน เข้าสู่ประเทศไทย เมื่อเดือน กรกฎาคม 2471ใช้ชื่อว่า เหงียน อ๋าย ก๊วก (เหงียนผู้รักชาติ)โดยสถานที่แรกที่เข้ามาเคลื่อนไหว คือ บ้านหัวดง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โดยเริ่มทำการติดต่อประสานงานกับชาวเวียดนามอพยพ ที่ได้มาทำมาหากินอยู่ที่บ้านหัวดงแห่งนี้ ประมาณ 20 ครอบครัว บางคนที่นี่ เคยเป็นทหารของ ฟาน ดิ่งฟุ่ง (ผู้นำกู้ชาติเวียดนามยุคก่อนโฮจิมินห์) ซึ่งน่าเสียดายที่ในปัจจุบันหลักฐานเอกสารต่าง ๆ ได้สูญหายไปหมดแล้ว บุคคลต่าง ๆ ที่เคยได้ร่วมภารกิจกับท่าน ต่างก็ล้มหายตายจากไปหมด บุคคลที่เป็นบุตรหลานของท่านเหล่านั้นก็ได้กลายเป็นคนไทยที่สมบูรณ์ไปหมดแล้ว
บ้านพักของโฮจิมินห์ ที่จังหวัดอุดรธานี
โต๊ะทำงานภายในห้องพัก
               เมื่ออยู่ที่บ้านหัวดงได้ระยะหนึ่ง  เหงียน อ๋าย ก๊วก และคณะ ได้เดินทางสู่แผ่นดินอีสาน เข้าสู่จังหวัดอุดร เพื่อ ชี้นำสาขาจัดตั้งของสมาคมสหายเยาวชนปฏิวัติ ซึ่งท่านได้ใช้ชื่อเพิ่มอีกชื่อหนึ่งว่า ทอ (Thä) จังหวัดอุดรธานีอยู่ในภาคอีสานของสยาม มีชาวเวียดนามอาศัยทำมาหากินเป็นจำนวนมากเป็นจุดที่สะดวกต่อการติดต่อประสานงานกับจังหวัดต่างๆไปถึง ณ ที่ใดงานแรกที่ท่านลงมือทำคือจัดตั้งแนวร่วม และกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นฐานในภารกิจกู้ชาติพร้อมกับติดตามข่าวสาร ให้การศึกษาแก่มวลชนชาวเวียดนาม ผู้คนมักเรียกท่านว่า เฒ่าจิ๋น ท่านอาศัยอยู่กับครอบครัวของเฒ่า แมด-ด๋าย สหายจัดตั้งที่บ้านหนองบัว หนองเหล็ก  ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ชุมชนบริเวณนี้มีชาวเวียดนามอพยพอาศัยอยู่ราว 20-30 ครอบครัว ส่วนมากทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ต่อมา เฒ่าจิ๋น ได้เปลี่ยนสถานที่พักใหม่ ย้ายไปที่หมู่บ้านหนองโอน  ต.เชียงพิณ โดยอาศัยอยู่กับครอบครัวของสหายที่ชื่อ "เฒ่าแงว็ก" ซึ่งได้ถึงแก่กรรมแล้ว 
การมาพักที่บ้านหนองโอนแห่งนี้ เฒ่าจิ๋นมีความมุ่งมั่นที่จะรวบรวมชาวเวียดนามพลัดถิ่นเข้าร่วมขบวนการ ต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศส ทั้งนี้เฒ่าจิ๋นพักอยู่กับเฒ่าแงว็กนานราว 2 เดือนซึ่งในปัจจุบันนี้ ทางจังหวัดอุดรธานี ได้จำลองบ้านของท่านขึ้นมาใหม่ในที่ดินผืนเดิม โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์พัฒนา แหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กลุ่มทุนในเวียดนามและการบริจาคจากชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในอุดร ช่วงเวลาที่อยู่ที่นี่ ท่านปลูกบ้านใกล้ๆบ้าน องแงว็ก ทำสวน ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู อบรมเรื่องชาตินิยมและฝึกอาวุธให้กับผู้ติดตามและชาวเวียดนาม มีครั้งหนึ่งที่ท่านพาคนเวียดนามไปช่วยงานก่อสร้างที่วัดโพธิสมภรณ์และวัดบ้านจิก
                   ในต้นปี 2474 ท่านได้เดินทางไปทำภารกิจต่อที่จังหวัดสกลนครและนครพนม ตามลำดับ โดยได้อาศัยอยู่ที่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งได้ใช้เป็นสถานที่ในการติดต่อ ประสานงานวางแผน และเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยเอกราชของเวียดนาม ในปัจจุบันบ้านหลังนี้อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม และ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองญาติ  ในปี พ.ศ. 2474 ท่านได้เดินทางกลับประเทศเวียดนามเพื่อดำเนินการเรียกร้องเอกราชจนกระทั่ง สามารถนำการปลดปล่อยมาสู่ประเทศเวียดนามได้สำเร็จเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ต่อมาท่านได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.  2489  
จนถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2512 ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษและบิดาของประเทศเวียดนามจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ดังนั้นสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านเคยใช่เป็นที่พักและดำเนินงานล้วนแล้วแต่สำคัญต่อชาวเวียดนามทั้งสิ้น คนไทยเราเองคนทำการศึกษาและอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการท่องเที่ยวและเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมกันของสองประเทศไว้สืบไป


1 ความคิดเห็น: