จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ช่องสามหมอ กับลักษณะทางธรณีวิทยา

                  ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทางด้านภูมิศาสตร์ในลักษณะต่าง ๆ นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อลักษณะของการดำรงชีวิตของมนุษย์ในแง่ต่างๆเป็นอย่างมาก ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ของโลกนอกจากจะทำให้เราทราบถึงปรากฏการณ์หรือกระบวนการที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นมาแล้วยังทำให้เราทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อลักษณะการดำรงชีวิตของผู้คนในบริเวณนั้นอีกด้วย
ภาพถ่ายดาวเทียม  ช่องสามหมอ ภูเขาลูกขวามือคือภูผาแดง ส่วนด้านซ้ายคือภูโค้ง
                  ช่องสามหมอ เป็นช่องเขาที่อยู่ระหว่างภูเขาสองลูกคือ ภูผาแดง ทางด้านทิศตะวันออก และ ภูโค้งทางด้านทิศตะวันตก โดยช่องเขานี้ใช้เป็นจุดแบ่งเขตการปกครอง 3 อำเภอด้วยกัน คือ ด้านทิศเหนือ ติด อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ทิศใต้อำเภอคอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ และทิศตะวันออก อ.โคกโพธิ์ชัย จ.ขอนแก่น  ลักษณะทั่วไป เป็นช่องเขาขาดที่มีลำน้ำไหลผ่าน อย่างที่เรียกว่า กิ่วน้ำ (water gap)  ลำน้ำนั้นคือ ห้วยสามหมอ โดยจะไหลตัดกับแนวทิวเขาดังกล่าว เกือบเป็นมุมฉาก
               ในอดีตนั้น พื้นผิวภาคอีสานได้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งการยกตัว จมตัว และการแทรกดันของหินอัคนีในช่วงธรณีกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะตอนปลายมหายุคพาลีโอโซอิก ยุคไทรแอสสิก และปลายยุคเทอร์เชียรี และจากการเคลื่อนตัวชนกันระหว่างธรณีภูมิฉาน ไทย มาเลย์ กับธรณีภูมิจุลทวีปอินโดจีน ทำให้เกิดลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาหลายลักษณะขึ้นในภาคอีสาน โดยส่วนใหญ่จะเป็นรอยคดโค้ง (Fold) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ รอยคดโค้งรูปประทุนคว่ำแก้งคร้อ ( Keangkhlo Anticline) ซึ่งในเวลาต่อมา รอยคดโค้งนี้ได้เกิดกษัยการจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะลำน้ำ เช่น ลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ เป็นต้น กัดเซาะ ลดระดับลงจนกลายเป็นที่ราบสูงระหว่างภูเขาที่เรียกว่าที่ราบสูงแก้งคร้อ ตัวที่ราบสูงนี้จะล้อมรอบด้วยภูเขาซึ่งจะเป็นเชิงเนินเขาด้านข้าง(Limbs) ของแนวคดโค้งเดิมนั่นเอง ได้แก่ ภูเม็ง ภูผาแดง ภูผาดำ ทางด้านทิศตะวันออก ภูโค้ง ภูคงคก ทางด้านใต้ ภูคี ภูหยวก ทางด้านตะวันตก  ส่วนทางเหนือจะลาดเทลงสู่ลุ่มแม่น้ำพรม ระดับความสูงเฉลี่ย 236 เมตร จากระดับน้ำทะเล  สำหรับขั้นตอนการเกิดขึ้นของช่องสามหมอ มีสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่สองส่วนคือโครงสร้างทางธรณีวิทยาและการกระทำของน้ำ
ลักษณะการเกิดของ Antecedent stream
                       ในส่วนของโครงสร้างทางธรณีวิทยาของช่องสามหมอนั้นมีภูเขาที่เกี่ยวข้องโดยตรงอยู่สองลูกคือ ภูโค้ง และภูผาแดง ซึ่งภูเขาทั้งสองลูกนี้เป็นภูเขาหินทราย ชุดโคราช  ซึ่งหน่วยหินที่เห็นเด่นชัดในบริเวณนี้คือ หน่วยหินโคกกรวด และหน่วยหินภูพาน ซึ่งมีคุณสมบัติความทนทานต่อการกัดกร่อนแตกต่างกัน หน่วยหินโคกกรวดที่ทนทานต่อกษัยการต่าง ๆ ได้น้อยกว่าได้ผุพังลงไปก่อน ปรากฏให้เห็นเป็นแนวหินราง ๆ ทอดตัวยาวถัดจากแนวภูผาแดง ภูโค้งมาด้านใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร ขนานกับแนวเทือกเขาทั้งสองลูก ส่วนหน่วยหินภูพาน ที่คงทนต่อการพังทลาย ผุพังสูงกว่า จึงเห็นเป็นแนวทิวเขาภูผาแดง ภูโค้ง   นั่นเอง
                       สิ่งที่เกี่ยวข้องอีกประการหนึ่งคือ การกระทำของลำน้ำ ซึ่งนั้นก็คือ ลำห้วยสามหมอ
ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำชี ซึ่งเป็นลำน้ำที่กัดเซาะสันเขา จนทำให้เกิดช่องสามหมอนี้ขึ้น ลักษณะของลำน้ำสายนี้จะเป็นลำน้ำบรรพกาล ( Antecedent stream) ที่วางตัวอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนแล้ว เมือเกิดการยกตัวของแผ่นดินขี้น  ลำห้วยนี้ก็จะกัดเซาะ ไปพร้อมๆ กับการยกตัว มื่อเวลาผ่านไปหลายล้าน ปี จึงมีรูปร่างลักษณะที่เห็นดังเช่นปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น